๑. พิจารณาว่าคนเราทำงานไปเพื่ออะไร ทำงานเพราะว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดหรือเปล่า
ซึ่งหากจะถามว่าคนเราทำงานไปเพื่ออะไร ส่วนใหญ่คงจะตอบว่าเพื่อหารายได้มาดำรงชีพ
(สำหรับส่วนน้อย ซึ่งอาจจะมีเหตุผลอื่นที่หลากหลายนั้น ขอละไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้)
ในเมื่อเราทำงานเพื่อหารายได้มาดำรงชีพ (เช่น เลี้ยงตนเอง และครอบครัว) แล้ว
ก็ย่อมแสดงในตัวว่าการทำงานเพื่อหารายได้นั้น ยังเป็นงานรองอยู่ ไม่ใช่งานหลัก
เพราะการทำงานยังเป็นไปเพื่อหารายได้มาสนับสนุนการดำรงชีพในเรื่องอื่น ๆ
หากสมมุติว่าเราทำงานในที่ทำงานแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพื่อการกุศล และไม่ใช่การฝึกงาน
แต่เป็นการทำงานจริง ๆ โดยที่เราทำงานดังกล่าวเพื่อต้องการหารายได้
แต่ปรากฏว่านายจ้างบอกว่าจะไม่จ่ายค่าตอบแทน และไม่ให้อะไรเป็นค่าตอบแทนทั้งสิ้น
คือให้เราทำให้ฟรี ๆ ไปตลอด ถามว่าเราจะทำงานนั้นไหม ซึ่งเราก็คงตอบว่า “ไม่ทำ”
นั่นก็แสดงให้เห็นว่าลำพังการทำงานเองนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด
(ในอีกมุมหนึ่งนะครับ ค่าตอบแทนในการทำงานก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดเช่นกัน
หากสมมุติว่ามีคนมาชวนเราไปทำงานที่อื่น โดยขึ้นอัตราค่าตอบแทนให้อีกหลายเท่า
แต่ว่าหากเราไปทำแล้ว เราจะต้องตายภายในไม่กี่วันอย่างแน่นอน
หรือเราจะต้องจากครอบครัวหรือจากคนที่เรารักไปตลอดชีวิต เราเองก็คงไม่ทำเช่นกัน)
หากท่านไหนยังมีความเห็นว่าการทำงานนั้นสำคัญที่สุดในชีวิต
ก็แนะนำให้ลองสมมุตินะครับว่า ถ้าเราทราบว่าเราจะตายในคืนนี้วันนี้แล้ว
เราลองถามตัวเองสิว่า เรายังจะใช้เวลาในวันนี้ทั้งวันเพื่อทำงานอยู่ไหม
เราจะใช้เวลาชีวิตที่เหลือทั้งหมดก่อนตายในวันนี้เพื่อทำงานหรือเปล่า
เมื่อการทำงานนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่เป็นเพียงงานรองดังที่กล่าวแล้ว
การที่เราจะมัวมุ่งทำแต่งานรอง โดยไม่ได้แบ่งเวลาชีวิตไปทำงานหลักนั้น
ย่อมจะเป็นการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ควรทำอย่างไม่เหมาะสม
และไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง แก่ครอบครัว และแก่ส่วนรวม
กรณีอาจจะมีปัญหาต่อมา คือว่าแล้วอะไรล่ะเป็นงานหลักของชีวิต
ปัญหานี้คงต้องคุยกันยาวนะครับ และแต่ละคนก็ย่อมมีจริตและเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ซึ่งเนื้อที่ในบทความนี้ไม่พอและจะเป็นการลากประเด็นของบทความครับ
จึงขอแนะนำให้เราไปพิจารณากันเองก่อนนะครับว่า “อะไรคืองานหลักของชีวิตเรา”
(โดยขอยกไปไว้คุยกันในคราวต่อ ๆ ไปเมื่อมีโอกาสครับ)
๒. พิจารณาว่า “คนเราทำงานเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำให้ชีวิตเราแย่ลง
หากเราทำงานแล้ว ทำให้ชีวิตเราแย่ลง ก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม”
สำหรับสองประโยคข้างต้นนี้ ขอยกตัวอย่างในชีวิตจริงของผมมาเล่านะครับ
เคยมีรุ่นพี่ท่านหนึ่งสอนสองประโยคนี้แก่ผมตั้งแต่สองปีแรกที่ผมเริ่มทำงานแล้วนะครับ
ก็คือเมื่อประมาณสิบแปดปีก่อนโน้น ซึ่งผมเองได้ทำงานหนักมาก ๆ และเยอะมาก
ทำแบบไม่ลืมหูลืมตา ประเภททำเจ็ดวัน วันละสิบกว่าชั่วโมงตลอด
และทำแบบไม่กลับบ้าน โดยนั่งหลับค้างคืนคาโต๊ะทำงานอยู่เป็นประจำ
ทำงานจนไม่มีเวลาให้พ่อแม่ ไม่มีเวลาให้แฟน ทำงานจนกระทั่งแฟนเลิกกับผมเลย
(ก็เพราะมัวแต่ทำงานนี่แหละ) ผมฟังรุ่นพี่คนนั้นสอนผมแล้ว ผมก็ยังไม่ get นะครับ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกสองปีกว่า โดยที่ผมก็ทำงานหนักเช่นเดิมอย่างนั้นมาตลอด
อยู่มาคืนหนึ่งซึ่งเป็นกลางดึกของวันอาทิตย์ ซึ่งผมยังทำงานอยู่ในที่ทำงานคนเดียว
ผมมองไปรอบ ๆ ที่ทำงานแล้ว เห็นว่ากำลังอยู่ในที่ทำงานคนเดียวในคืนวันอาทิตย์
แล้วจู่ ๆ สองประโยคที่รุ่นพี่เคยสอนผมก็ย้อนเข้ามาในสมอง
ผมไล่เรียงนึกย้อนไปกับชีวิตที่ผ่านมา จึงได้ get ว่าหมายความว่าอย่างไร
คนเราก็มีอย่างนี้ในชีวิตนะครับที่ว่า ได้ยินคำสอนหรือคำแนะนำอะไรดี ๆ แล้ว
แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือเข้าถึงได้
โดยจะต้องให้เวลาผ่านไปจนกระทั่งตกผลึกเสียก่อน
หรือบางทีอาจจะต้องให้เดือดร้อนเสียก่อน (ประเภทไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา)
จึงจะสามารถเข้าใจหรือเข้าถึงคำสอนหรือคำแนะนำนั้น ๆ ได้
ทั้ง ๆ ที่เรื่องบางเรื่องนั้น เราสมควรที่จะเข้าใจได้ในวาระแรกแล้ว
แต่กลับไม่เข้าใจ และก็ต้องรอจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแล้ว จึงเพิ่งจะเข้าใจได้
(ซึ่งเมื่อเข้าใจในเวลานั้นแล้ว ก็อาจจะไม่เหลือเวลาพอที่จะ “แก้ตัวหรือกลับตัว” แล้ว
แต่ไม่ว่าจะเหลือเวลาน้อยเพียงไรก็ตาม ก็ย่อมจะเพียงพอที่เราจะ “กลับใจ” นะครับ)
ถ้าจะยกตัวอย่างกรณีเราทำงานแล้วทำให้ชีวิตเราแย่ลง ให้พิจารณาอีก ก็เช่นว่า
ทำงานอย่างหนักจนกระทั่งเราเองเจ็บป่วยหนัก เป็นโรคร้าย
และกลับกลายเป็นว่าเราเองต้องมาเป็นภาระให้คนในครอบครัวต้องดูแล
หรือว่าเราทำงานหนักจนกระทั่งเครียดมากและพาลทะเลาะกับคนในครอบครัว
ทำให้คนในครอบครัวเราทุกข์ใจและไม่มีความสุข
ทั้งนี้ เราอาจจะทำงานหนักก็เพื่อต้องการให้คนในครอบครัวมีความสุข
แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับสวนทางกับวัตถุประสงค์ เป็นต้น
ตัวอย่างที่เจอบ่อยคือพ่อแม่ทำงานหนักมาก เพราะต้องการหารายได้มาเลี้ยงดูลูก
เพื่อที่จะให้ลูกได้มีอนาคตที่ดี และเป็นคนดี แต่ด้วยความที่พ่อแม่ทำงานหนักมาก
ไม่มีเวลาให้กับลูก ไม่มีเวลาสอน และไม่มีเวลาดูแลลูก ก็กลายเป็นว่า
ลูกไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนและดูแลที่ดี จึงกลายเป็นคนไม่ดี และเสียอนาคตไปเลยก็มี
เรื่องทำนองนี้ก็แสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ที่ได้กลับสวนทางกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้
๓. พิจารณาว่า เราเป็นเจ้าของกิจการ หรือตกเป็นทาสของกิจการ
เราเป็นนายของการงาน หรือเป็นทาสของการงาน
เราเป็นนายของทรัพย์สิน หรือเป็นทาสของทรัพย์สิน
หากเราเองจะต้องทุ่มทั้งชีวิตเพื่อทำงาน เพื่อหารายได้ หรือเพื่อสะสมทรัพย์สิน
โดยไม่มีเวลาไปทำประโยชน์ส่วนตัว (เพื่อตนเอง ครอบครัว และส่วนรวม)
ไม่มีเวลาพักผ่อนส่วนตัว ... เวลาแม้เล็กน้อยที่เรามีก็ต้องใช้ไปเพื่อการทำงาน
เช่นนั้นแล้ว ก็ควรพิจารณาว่า เราเองเป็นนาย เป็นเจ้าของ หรือว่าเราเป็นทาสกันแน่
สมมุติว่าเราทำงานสะสมเงินทองได้มากมาย ได้มาเป็นร้อยล้านพันล้าน
แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากเงินนั้นเลย
เงินนั้นกองอยู่ในบัญชี ให้เราได้เห็นเพียงตัวเลข โดยมีตัวเลขมากมาย
ส่วนเราเองต้องอยู่กับงานตลอด ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีวันหยุด
ถึงวันหนึ่งเราก็ป่วย แล้วก็ตายจากไป ... สำหรับเงินในบัญชีนั้น เราไม่มีเวลาจะใช้
หลังจากที่เราตายแล้ว ทายาทเราหรือคนอื่น ๆ ก็ได้นำเงินนั้นไปใช้
ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะทราบล่วงหน้าได้เลยว่าเขาจะใช้อย่างไร ใช้เพื่ออะไร
หรือจะนำไปละลายทิ้งอย่างไร้ประโยชน์หรือไม่
เช่นนี้แล้ว เงินทองเหล่านั้นย่อมไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร
(โดยเราทำตัวเองเสมือนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ให้คนอื่นเสียมากกว่า)
๔. พิจารณาว่า คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีหน้าที่เพียงทำงานอย่างเดียว
แต่ชีวิตคนเรานั้นจะต้องทำชีวิตส่วนตัวในเรื่องอื่น ๆ ให้ดีด้วย
โดยควรจะต้องจัดสรรแบ่งเวลาให้เหมาะสมระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว
หากใช้เวลาไปในด้านการทำงานมากจนเกินไป ชีวิตส่วนตัวก็จะเสียหาย
เมื่อชีวิตส่วนตัวเสียหายแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับการทำงานอยู่ดี
เช่น สมมุติว่าเราทำงานหนักมากจนเราป่วยเป็นมะเร็งระยะร้ายแรง
การที่เราป่วยเป็นมะเร็งระยะร้ายแรงก็ย่อมกลับไปกระทบการทำงานของเราอยู่ดี
ในทางกลับกัน หากใช้เวลาไปทางชีวิตส่วนตัวมากจนเกินแล้ว การงานก็จะเสียหาย
เมื่อการงานเสียหายแล้ว ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัวอยู่ดี
เช่น สมมุติว่าเราละเลยไม่ใส่ใจทำงานจนกระทั่งโดนให้ออกจากงานและขาดรายได้
หรือโดนย้ายไปทำงานในสถานที่ไกลบ้านมาก ๆ ก็ย่อมจะกระทบกับชีวิตส่วนตัวได้
ลองเปรียบเทียบว่า เราต้องการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายในแต่ละวัน
หากเราใช้เวลาทั้งหมดไปเพื่อการอาบน้ำถูสบู่อย่างเดียว ถูเยอะมากเลย ถู ๆ ๆ ๆ
เราใช้เวลาทั้งหมดไปเพื่ออาบน้ำถูสบู่เพื่อความสะอาดร่างกาย
แต่เราไม่แปรงฟัน ไม่สระผม ไม่ซักเสื้อผ้าที่จะใส่ ... เสื้อผ้าที่จะใส่นั้นสกปรกมีกลิ่นเหม็น
ถามว่าเราจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการที่เราอาบน้ำถูสบู่นั้นหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่า “ไม่”
เพราะว่าเมื่ออาบน้ำและแต่งตัวเสร็จแล้ว ก็ยังสกปรกอยู่ดี และมีกลิ่นเหม็นด้วย
ในทางกลับกัน หากเราจะซักเสื้อผ้าให้สะอาด แปรงฟัน และสระผมแล้ว
แต่เราไม่อาบน้ำและไม่ถูสบู่ ก็ย่อมจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรที่เช่นกัน
การที่เรามุ่งทำงานอย่างเดียว โดยละเลยชีวิตส่วนตัว ก็ทำนองเดียวกันครับ
๕. พิจารณาว่า คนเราสมควรต้องรู้จักพัฒนาชีวิตตนเองให้ดีขึ้น
ยกตัวอย่างว่า ชายคนที่หนึ่งเดินออกจากบ้าน โดยถือท่อนไม้ติดตัวไปด้วย
เดินไปได้วันหนึ่ง ก็พบถาดทองเหลือง เขาก็วางท่อนไม้ลง และถือถาดทองเหลืองนั้น
เดินต่อไปอีกวันหนึ่ง ก็พบถาดทองคำ เขาก็วางถาดทองเหลือง และถือถาดทองคำนั้น
ชายคนที่หนึ่งกลับมาที่บ้านพร้อมกับทองคำนั้น
ชายคนที่สองเดินออกจากบ้าน โดยถือท่อนไม้ติดตัวไปด้วยเช่นกัน
และเขาก็ได้พบถาดทองเหลือง และถาดทองคำเช่นเดียวกันกับชายคนที่หนึ่ง
แต่เขาไม่ยอมวางท่อนไม้ เพราะเห็นว่าท่อนไม้เป็นสิ่งสำคัญที่เขาได้ถือไว้นานแล้ว
เขาอุตส่าห์เหนื่อยยากถือมาตั้งนาน ชายคนที่สองจึงกลับมาที่บ้านพร้อมกับท่อนไม้นั้น
เราลองพิจารณาว่าชายคนที่หนึ่ง หรือชายคนที่สองได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ตนเอง และครอบครัวมากกว่ากัน และชายคนใดควรได้รับการชมเชย
ในทำนองเดียวกัน ชีวิตของเราก็ได้พบผ่านสิ่งต่าง ๆ มามากมาย
เราก็ควรต้องพิจารณาพัฒนาตนเองไป เพื่อให้ชีวิตเรานี้มีคุณค่ามากที่สุด
ในสมัยเด็ก ๆ เราอาจจะมองว่าการเล่นสนุกสนานนั้นสำคัญและมีคุณค่าที่สุด
แต่พอโตและเรียนจบแล้ว เราอาจจะมองว่าการทำงานสำคัญและมีคุณค่าที่สุด
เมื่อเวลาผ่านไปอีก เราก็ควรจะลองถามตัวเองบ้างว่า
มีอะไรในชีวิตที่มีคุณค่าและสำคัญกว่าการทำงานไหม
เราได้วางท่องไม้ไป และถือถาดทองเหลืองแล้ว เราได้พบสิ่งอื่นที่มีคุณค่ากว่านั้นไหม
๖. พิจารณาว่า หากสิ่งที่เราทำอยู่ในชีวิตทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว หรือดีที่สุดอยู่แล้ว
โดยไม่ได้มีอะไรบกพร่องอะไรเลย ชีวิตเราก็ย่อมจะต้องมีความสุขมากมายนะครับ
จึงควรลองถามตัวเองว่า ชีวิตเราเอง มีความสุขมากมายหรือเปล่า
เราพอใจในการใช้เวลาทำงานเยอะ ๆ โดยไม่มีเวลาส่วนตัวเลย
ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หากตอบว่า “ไม่พอใจ”
เรารู้สึกว่าตนเองเป็นทาสของกิจการ เป็นทาสของงาน เป็นทาสของทรัพย์สินแล้ว
แสดงว่าต้องมีข้อบกพร่องบางอย่างอยู่ จึงควรที่จะต้องค้นหาข้อบกพร่องนั้น
เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงชีวิตเราให้ดีขึ้นต่อไป
๗. พิจารณาว่า คนเราต้องรู้จักแบ่งเวลาว่าเวลาไหนควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร
ไม่ใช่ว่าเวลาที่เรากินข้าว ก็เล่นเกมไปด้วย หรือคุยโทรศัพท์ไปด้วย
เวลาอาบน้ำ ก็คุยโทรศัพท์ไปด้วย ดูโทรทัศน์ไปด้วย หรือเช็คอีเมล์ไปด้วย
เวลาขับรถ ก็ดูโทรทัศน์ไปด้วย หรืออ่านเช็คอีเมล์ไปด้วย หรือคุยโทรศัพท์ไปด้วย
เวลาทานข้าวอยู่กับแฟน ก็ทำงานไปด้วย หรือคุยโทรศัพท์กับเพื่อน ๆ ไปด้วย
พอเวลาทำงาน ก็มัวแต่คุยโทรศัพท์เล่นกับเพื่อน มัวนอน เล่นอินเตอร์เน็ต
หรือทำเรื่องไร้สาระอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเลย
ลองพิจารณาดูนะครับว่าจะดีหรือแย่อย่างไร หรือเหมาะสมไหม
หากในช่วงเวลาที่คนในครอบครัวกำลังกินข้าวด้วยกันนั้น
พ่อก็โทรศัพท์คุยเรื่องงาน แม่ก็ดูละครโทรทัศน์เรื่องที่ตนเองติด
ลูกคนโตเล่นอินเตอร์เน็ตโดยโทรศัพท์มือถือ ส่วนลูกคนเล็กเล่นเกมออนไลน์ในคอมพิวเตอร์
แล้วจะเรียกว่าเป็นการกินข้าวระหว่างคนในครอบครัวได้ไหม
ในทำนองเดียวกัน หากเรากำลังกินข้าวกับคนในครอบครัว
แต่จิตใจกลับไปหมกมุ่นคิดแต่เรื่องงาน เช่น คิดถึงลูกน้องที่ไม่ทำงาน หรือทำงานไม่ได้เรื่อง
คิดถึงเพื่อนร่วมงานที่เห็นแก่ตัว หรือเจ้านายที่นิสัยไม่ดี เอาแต่ดุด่าไม่ฟังเหตุผล
ก็ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ กับการกินข้าวกับคนในครอบครัวนั้น
๘. พิจารณาว่า งานที่เราทำนี้มีวันหมดหรือไม่
หากเราทำงานอยู่ในแผนกหรือฝ่ายที่มีพนักงานจำนวนมาก
ลองพิจารณานะครับว่าเราคนเดียวจะทำงานแทนคนทั้งหมดในแผนกหรือในฝ่ายได้ไหม
ยิ่งหากอยู่องค์กรใหญ่ ๆ แล้ว คงจะเห็นได้ว่าทำงานให้ตายก็ตาม งานก็ไม่มีวันหมด
(เว้นแต่องค์กรนั้นกำลังจะเจ๊ง หรือเลิก หรือล้มละลาย)
เราทำงานหนักมากเลยในสัปดาห์นี้ พอถึงสัปดาห์หน้างานใหม่ก็เข้ามาอีกแล้ว
โดยงานได้ไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่มีวันหมด อย่างไรก็ดี แม้ว่างานอาจจะไม่มีวันหมด
แต่ว่าเวลาชีวิตของเรามีวันหมดนะครับ จึงควรจัดสรรเวลาชีวิตให้เหมาะสม
๙. พิจารณาว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องทำงานคนเดียว หรือแบกทุกอย่างไว้คนเดียว
ลองพิจารณาว่าเราให้ความสำคัญกับตนเองมากเกินไปหรือเปล่า
หากเราตาย หรือเราไม่อยู่แล้ว บริษัทจะต้องเจ๊งหรือเปล่า ทุกคนจะทำงานไม่ได้หรือไง
โดยให้มองคนอื่นด้วยใจที่เปิดกว้างและยอมรับด้วยว่า
เราไม่ได้เก่งที่สุดคนเดียว เราไม่ได้ทำงานได้คนเดียว คนอื่น ๆ ที่มีศักยภาพก็มี
ทำอย่างไรเราจึงจะกระจายงานให้คนอื่น ๆ ได้ช่วยกันทำอย่างเหมาะสม
๑๐. พิจารณาว่าคนเราจะตายวันไหน เวลาไหน ก็ไม่ทราบได้
ลองถามตัวเองว่า เราได้ทำทุกอย่างไว้สมบูรณ์แล้วหรือยัง
เราได้ทำสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตเรียบร้อยดีแล้วหรือเปล่า
ได้ให้เวลากับครอบครัว กับคนที่เรารัก และกับตนเอง อย่างเหมาะสมไหม
หากวันดีคืนดี เราเกิดตายอย่างกะทันหัน หรือป่วยหนักทำอะไรไม่ได้แล้ว
ก็เท่ากับว่าเราไม่มีโอกาสที่จะได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ควรจะต้องทำ
โดยเราได้ปล่อยเวลาและโอกาสให้ผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ กรณีอาจจะไม่ใช่ว่าเราตายอย่างกะทันหัน แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า
คนที่เรารัก คนในครอบครัวเรา หรือคนที่เกี่ยวข้องกับเราได้ตายลงอย่างกะทันหันก็ได้
นอกจากจะแนะนำให้พิจารณาดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ขอแนะนำให้ทำดังต่อไปนี้ด้วยครับ
(๑) แม้ว่าจะบอกให้แบ่งเวลาชีวิตสนใจสิ่งสำคัญอื่น ๆ แต่การทำงานนั้นก็สำคัญ
เราจึงควรต้องใช้เวลาหาข้อบกพร่องในงานที่ทำด้วยว่า จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ไหม
ไม่ควรคิดว่าเราทำทุกอย่างดีหมดอยู่แล้ว เพราะหากระบบงานทุกอย่างดีหมดแล้ว
การทำงานควรต้องสบาย งานเสร็จเร็ว และเรามีเวลาส่วนตัวเยอะ ๆ
แต่หากตรงกันข้ามว่า งานเราทำไม่ทันเลย เวลาส่วนตัวไม่มีเลย และเรากลุ้มหรือกังวล
เช่นนี้แล้วก็ควรจะพิจารณาการทำงานใหม่ทั้งหมดครับว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
และควรจะแก้ไข ปรับปรุง หรือพัฒนาอะไรได้บ้างไหม
บางที เราต้องลองมองสวนกระแส หรือมองออกนอกกรอบเดิม ๆ บ้าง
มีงานบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องทำไหม มีวิธีการบางอย่างที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ไหม
มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรที่จะช่วยให้ทำงานโดยใช้เวลาน้อยลงกว่านี้ไหม
เราสร้างหรือใช้ระบบงานบางอย่างที่ซับซ้อนมากเกินไปหรือเปล่า
เราเก็บหรือกั๊กงานมาทำเองมากเกินไปหรือไม่ เราไม่ไว้ใจคนอื่น ๆ เลยหรือเปล่า
ทั้งที่ก็น่าจะสามารถแบ่งงานให้คนอื่นทำได้ แต่เราไม่แบ่งให้ ฯลฯ
ในชีวิตจริงนั้น ตัวเราเองก็มีแต่จะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำงานได้ช้าลง
การที่จะลุยทำงานหนักไปเรื่อย ๆ นั้น คงจะไม่สามารถทำไปได้ตลอด
จึงควรต้องพิจารณาระบบการทำงานเผื่ออนาคตด้วย
ทั้งนี้ ผมไม่ได้บอกให้ทิ้งงานทั้งหมดเพื่อไปทำอย่างอื่นนะครับ
แต่แนะนำให้มาพิจารณาจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตใหม่ทั้งหมด
เรียงใหม่หมดเลย จากนั้นแล้ว แบ่งเวลาให้การทำงานว่าจะแบ่งเท่าไร
จากนั้น ในเวลาที่เราได้แบ่งให้กับการทำงานนั้น เราต้องมาพิจารณาอีกว่า
ในเมื่อเวลาเราลดลง เราควรจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เพื่อที่จะให้ไม่ให้กระทบงาน
หรือหากจะต้องกระทบงาน ก็ให้กระทบให้น้อยที่สุด
(๒) ในเวลาชีวิตส่วนตัวของเรานั้น เป็นไปได้ว่าเราอาจจะเผลอไปหลงคิดกังวลเรื่องงาน
ดังนั้นแล้ว ก็แนะนำให้เราหัดมีสติรู้ทันใจตนเอง
โดยตั้งหลักก่อนว่า เราต้องแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวออกจากกัน
หากเราอยู่ในเวลางาน และใจหลงไปคิดเรื่องส่วนตัว ให้มีสติรู้ทัน
หากเราอยู่ในเวลาส่วนตัว และใจหลงไปคิดกังวลเรื่องงาน ให้มีสติรู้ทัน
โดยไม่ปล่อยให้ความหลงดังกล่าวมาครอบงำใจ
แม้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจะคุยเกี่ยวกับการหมกมุ่นเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อแนะนำก็สามารถนำไปปรับใช้กับการหมกมุ่นเรื่องอื่น ๆ ได้
โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการหมกมุ่นเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น
เช่น หมกมุ่นเรื่องแฟน เล่นเกม ดูละคร อ่านนิยาย เที่ยวกลางคืน เล่นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
ก็สามารถนำไปพิจารณาปรับใช้ได้ตามที่เหมาะสม
เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลาชีวิตส่วนตัวไปทำสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่ากับชีวิตเราอย่างแท้จริงได้